สวัสดีค่ะ วันนี้แอดมินจะมารวมตอบคำถามยอดฮิตสำหรับการพิมพ์สายดิจิทัลออฟเซทกัน แต่เนื่องจากคำถามค่อนข้างเยอะ เลยขออนุญาตแบ่งเป็นหลาย ๆ ตอนนะคะ เพื่อผู้อ่านจะได้ไม่เหนื่อยอ่านไปเสียก่อน 😀 เริ่มต้นด้วยคำถามแรกกันก่อนเลยค่ะ

คำถาม ข้อสงสัย เกี่ยวกับ กระดาษ วัสดุ สำหรับ เครื่องพิมพ์ ดิจิตอลออฟเซต

Q: งานแบบนี้ควรเลือกใช้กระดาษแกรมไหนดี

A: คำถามนี้ตอบยากที่สุดเลยค่ะ เพราะขึ้นอยู่กับลักษณะงาน วัตถุประสงค์และความต้องการของลูกค้า แต่อย่างไรเราได้ไปศึกษาหาข้อมูลและจากประสบการณ์จึงขอให้แนวทางในการพิจารณาไว้ดังนี้ค่ะ

น้ำหนัก 104 แกรม 

กระดาษประเภทนี้จะถือได้ว่าบางที่สุดในบรรดาซีรี่ย์มูริม โปรดิจิทัล (Moorim Pro-Digital) และถือว่ามีความคุ้มค่าสูงสุด ถ้านำมาใช้ในงานพิมพ์ ก็เรียกได้ว่าลูกค้าสามารถพับม้วนสะดวก เนื่องจากความบาง เหมาะสำหรับงานโบรชัวร์ ใบปลิว แผ่นพับ คูปอง

น้ำหนัก 130 แกรม

กระดาษประเภทนี้จะถือว่าเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมสูงสุด เนื่องจากมีความหนาเพิ่มขึ้นกว่า 104 แกรม อีกเล็กน้อย ทำให้ยับยากขึ้น และยังอยู่ในกลุ่มที่ถือว่าคุ้มค่า คุ้มราคาในการนำไปใช้งานต่าง ๆ และความหนาที่มากขึ้นก็ทำให้ได้สัมผัสที่ดีขึ้น ดูน่าเชื่อถือ หรือบางคนก็เอาไปทำเป็นสายคาดกล่องอาหารค่ะ ถ้าอันนี้ก็จะเป็นแบบบางหน่อยนะคะ

น้ำหนัก 150-170 แกรม

น้ำหนัก ความหนาที่มากกว่า สะท้อนภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ ความเป็นมืออาชีพที่มากกว่ากระดาษที่มีน้ำหนักเบา บาง แต่ในแง่มุมการใช้งานอาจไม่ได้แตกต่างกันมากเท่าไหร่ ซึ่งน้ำหนักกระดาษในช่วงนี้ที่นิยมนำไปใช้กันมาก ได้แก่ เนื้อในแคตาล็อกของบริษัทต่าง ๆ

น้ำหนัก 200-230 แกรม

สำหรับน้ำหนักกระดาษช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ก้ำกึ่งระหว่างกระดาษทั่วไปและการ์ด ลูกค้าบางท่านจะนำไปใช้เป็นปกโบรชัวร์ เมนูอาหาร โปสการ์ด หรือ ใบแนะนำผลิตภัณฑ์ที่ต้องการความเป็นทางการ ถ้าจะเอาไปทำสายคาดกล่องอาหารแนวแข็ง ๆ ดูหรู ๆ ก็กำลังเหมาะค่ะสำหรับน้ำหนักกระดาษในช่วงนี้ แต่ถ้าต้องการทำสายคาดกล่องแบบแข็งหน่อย เราแนะนำเป็นมูริม โปรดิจิทัล ไนท์ (Moorim Pro-Digital Knight) เพราะมีกระดาษอาร์ตการ์ดหน้าเดียวให้เลือกด้วยนะคะ ติดง่ายกว่าและหนากว่าค่ะ

น้ำหนัก 250 แกรม

ถ้าต้องการสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า กระดาษขนาด 250 แกรมจะเป็นสัมผัสที่ประทับใจลูกค้าของคุณแน่นอน และน้ำหนักกระดาษนี้เป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับงานบริการ หรือโรงแรม เพื่อใช้ทำการ์ดต่าง ๆ หรือปกหนังสือก็ได้ หรือบางที่ก็เริ่มพิจารณานำไปทำปลอกใส่แก้ว (Cup Sleeves) ถ้าเป็นกระดาษมูริม โปรดิจิทัล ไนท์ (Moorim Pro-Digital Knight – กระดาษอาร์ดการ์ด) ก็เหมาะมากค่ะ

น้ำหนัก 300 แกรม

สำหรับแกรมนี้ที่จะนำไปใช้กันโดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นปกหนังสือหรือการ์ดต่าง ๆ เช่นกันค่ะ แต่ก็จะมีความเป็นทางการมากขึ้น สำหรับบางคนอาจเริ่มพิจารณากระดาษแกรมนี้ไปใช้ทำนามบัตรกันค่ะ (แต่หลาย ๆ ที่ก็มีความเห็นว่าบางไปนิดนึง) 

น้ำหนัก 350 -400 แกรม

แกรมนี้จะเป็นน้ำหนักกระดาษที่มากที่สุดที่เครื่องพิมพ์หลาย ๆ รุ่นในปัจจุบันสามารถรองรับได้ น้ำหนักกระดาษขนาดนี้ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ทำนามบัตรกัน หรืองานที่ต้องการความเป็นทางการสูง ถ้าจะใช้ทำกล่องบรรจุภัณฑ์ก็ได้เลยค่ะ แต่ถ้าเน้นผิวมันแนะนำกระดาษมูริม โปรดิจิทัล ไนท์ (Moorim Pro-Digital Knight) นะคะ

Q: กระดาษอาร์ตมันแกรมสูง กับกระดาษอาร์ตการ์ตต่างกันอย่างไร ใช้แทนกันได้หรือเปล่า

A: คำถามนี้เป็นคำถามที่ถูกถามบ่อยที่สุด เนื่องจากทางโรงงานกระดาษมูริม (Moorim Paper) มีการแบ่งประเภทกระดาษที่ชัดเจน ทำให้ผู้ใช้มือใหม่หลายรายอาจสับสนว่า กระดาษทั้ง 2 ประเภทนี้เหมือนกันหรือไม่ และใช้ต่างกันอย่างไร

ในกระบวนการผลิตกระดาษ เพื่อให้กระดาษมีลักษณะมันวาวสวยงาม กระดาษจะต้องผ่านเข้าสู่กระบวนการขัดมัน (Calendering Process) ซึ่งในกระบวนการนี้กระดาษจะสูญเสียความหนา (Thickness) และความแกร่ง (Stiffness) ลง เพื่อแลกกับความเงางามที่ได้กลับมา ทำให้กระดาษอาร์ตมันแกรมสูง ๆ  อาจไม่ได้หนาหรือแกร่งอย่างที่ตั้งใจไว้ อย่างไรก็ดี ในบางสถานการณ์เราต้องการกระดาษที่มีทั้งความแกร่ง ความหนา และความเงางาม เช่น กล่องสินค้า ปกหนังสือ เป็นต้น ดังนั้น โรงงานกระดาษจึงต้องมีการเพิ่มสัดส่วนของเยื่อกระดาษเข้าไปในส่วนผสม โดยเฉพาะเยื่อใยยาว (Long Fiber Pulp) เพื่อให้ได้คุณสมบัติที่ต้องการ และนี่คือข้อแตกต่างที่สำคัญประการหนึ่งของกระดาษอาร์ตการ์ตของโรงงานมูริม อย่างไรก็ดี การเพิ่มส่วนผสมดังกล่าวก็จะทำให้ราคากระดาษอาร์ตการ์ดมีราคาที่สูงกว่ากระดาษอาร์ตมันแกรมสูง ๆ ด้วย

ทั้งนี้ สำหรับระบบการพิมพ์ดิจิทัล เพื่อให้วัสดุพิมพ์สามารถไหลลื่นไปตามลูกดรัมต่าง ๆ  ที่เป็นกลไกภายในเครื่อง โดยไม่มีปัญหากระดาษติด เราจะสามารถสังเกตได้ว่าโรงงานจะตัดกระดาษในแนวด้านกว้างของกระดาษ (Short Grain) ซึ่งจะไม่ใช่แนวปกติที่โรงงานตัดในกระดาษออฟเซต ดังนั้นถ้าเรานำไปเทียบกับกระดาษออฟเซต เราอาจรู้สึกได้ว่ากระดาษไม่แกร่งก็เป็นได้ ทั้ง ๆ ที่กระดาษมีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกัน สำหรับท่านใดที่สนใจอ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับเกรนกระดาษสามารถหาได้จากลิงค์นี้เลยค่ะ

ดังนั้น ถ้าเราต้องการกระดาษที่เน้นคุ้มค่าแต่ต้องการมีความแกร่งกว่าแกรมบาง ๆ กลุ่ม Pro-Digital Gloss (กระดาษอาร์ตมัน) ก็ยังสามารถตอบโจทย์ได้ดีค่ะ แต่ถ้าต้องการเน้นหนาและแกร่งจริง ๆ และต้องการความเงางามด้วย เราควรเลือกกลุ่มกระดาษอาร์ตการ์ด หรือ Pro-Digital Knight ซึ่งจะเหมาะสมมากกว่า อีกคุณสมบัติที่ทางโรงงานแถมมาให้สำหรับซีรี่ย์ Pro-Digital Knight ก็คือ ความสว่าง (Brightness) ที่มากกว่า ซึ่งน่าจะถูกใจโรงพิมพ์ไทย ๆ เลยค่ะ เพราะจะขาวกระจ่างกว่ารุ่นปกติเยอะค่ะ ซึ่งโดยรวมทั้งความหนา ความแกร่ง และความขาวสว่างที่มากกว่า จะช่วยขับให้งานพิมพ์ที่ได้ดูพรีเมี่ยมมีราคามากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ซีรี่ย์ Pro-Digital Knight ยังมีกระดาษอาร์ตการ์ดหน้าเดียว (C1S Paper) ให้เลือกใช้ด้วยนะคะ ซึ่งเหมาะมากสำหรับงานโปสการ์ดที่ต้องการให้งานพิมพ์ดูสวยเด่นเงางามในด้านหน้า แต่ในด้านหลังสามารถที่จะขีดเขียนได้เนื่องจากคุณสมบัติของกระดาษไม่เคลือบผิว

สำหรับตอนแรกก็ขอจบไว้เพียงแค่นี้ก่อนนะคะ แต่ถ้าท่านไหนสนใจกระดาษ Pro-Digital Gloss/Matt หรือ Pro-Digital Knight ก็สามารถเลือกชมได้ตามลิงค์ด้านล่างเลยค้า

Related Posts